top of page
ส่วนแผนและประสานงาน ศปป.4 กอ.รมน.
ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ทำไมต้องช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
เพราะความคับแค้นทางจิตใจและยากไร้ทางวัตถุ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเกิดพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย จึงทำให้มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 สมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เปิดโอกาสให้สหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ฯ กลับใจมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท. ภายใต้คำสั่ง 66/2523 นี้ เป็นพันธะสัญญาที่รัฐบาลสัญญาว่าจะช่วยเหลือปัจจัยการทำมาหากิน
1/2
การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
สถานการณ์ความเป็นมาการช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
จากนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๕๒๓ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสงครามประชาชน หรือการสู้รบของคนในชาติระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับรัฐบาลไทย ผลพวงจากนโยบายดังกล่าว ทำให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่า ภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีโอกาสหวนกลับสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ และเปิดโอกาสให้สมาชิก และกองกำลังของ พคท.เข้ามอบตัว เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) เป็นผลให้ไฟสงครามกลางเมืองมอดดับลง รัฐบาลสามารถทุ่มเทกำลังที่มีอยู่ เพื่อดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
ปัจจัยในการยุติสงครามซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวไว้ คือ เงื่อนไขสงครามมี ๒ อย่าง ได้แก่ เงื่อนไขทางจิตใจและเงื่อนไขทางวัตถุ เงื่อนไขทางจิตใจ หมายถึง การให้ความเป็นธรรมและความสะดวกเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการกับประชาชน ไม่ใช่เข้าไปรีดไถหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรม เงื่อนไขทางวัตถุ หมายถึง ความพยายามในการสร้างความเจริญให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะคนยากจน
รัฐบาลในขณะนั้น จึงมีแนวความคิดที่จะให้ความช่วยเหลือ ผรท. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่ชาติบ้านเมืองต่อไป โดยแยกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ที่มีการดำเนินการชัดเจน ออกได้เป็น ๓ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ การดำเนินการก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๕
ครั้งที่ ๒ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๐/๒๕๔๕ ลง ๘ ก.ค.๔๕ ครั้งที่ ๓ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๙๐/๒๕๕๒ ลง ๑๘ ส.ค.๕๒
ครั้งที่ ๑ การดำเนินการก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๕
๑. ทางราชการได้ให้ความช่วยเหลือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และกองกำลังกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ซึ่งเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ด้วยการจัดสรรที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ ๒ งาน และที่ทำกิน ครอบครัวละ ๘ - ๑๕ ไร่ รวม ๔๐๓ ครอบครัว ๘๐๖ คน จำนวน ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ - บ้านภูผาหอม ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร - บ้านชาติพัฒนาชาติไทย ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม - บ้านสันติสุข ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม - บ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค ๒ รับผิดชอบการขอใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินให้ ผรท. และโครงการนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
๒. ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการช่วยเหลือโดยได้จัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับกลุ่ม ผรท. ใหม่ ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น จังหวัดพิษณุโลก ๕ หมู่บ้าน, จังหวัดพะเยา ๒ หมู่บ้าน และจังหวัดตาก ๘ หมู่บ้าน (โดยเป็นการอยู่ร่วมกับราษฎรประเภทอื่นด้วย) อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาที่อยู่เดิม ก่อนเข้าป่า บางส่วนอพยพกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ กับญาติพี่น้อง และมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับที่ดินทำกิน และหมู่บ้าน ผรท. ส่วนใหญ่มีโครงการพัฒนา เพื่อความมั่นคงพื้นที่รองรับ และดูแลการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการ พมพ.ดอยยาว – ดอยผาหม่น , โครงการ พมพ.ลุ่มน้ำน่าน และ โครงการ พมพ.ภูขัดฯ เป็นต้น แต่ปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เส้นทางคมนาคมยากลำบาก ขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สภาพที่ดินทำกินเสื่อมโทรม และอื่น ๆ
๓. ในพื้นที่ภาคใต้ กอ.รมน.ภาค ๔ ได้ให้ความช่วยเหลือขั้นต้นด้วยการจ่ายค่าตอบแทนอาวุธและกระสุนที่นำมามอบให้แก่ทางราชการ ในห้วงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๓๐ จัดโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ในพื้นที่ที่ยึดได้บริเวณบ้านช่องช้าง บ้านเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในปี พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยผู้ที่ออกมามอบตัวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒๕๑ คน ได้รับค่าดำรงชีพเป็นรายบุคคล ระยะเวลา ๓ ปี เป็นเงินวันละ ๑๘ บาท พร้อมค่ารักษาพยาบาล เงินลงทุนประกอบอาชีพขั้นต้น ครอบครัวละ ๕๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ ๒ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๕ อนุมัติให้กองทัพบก และ กองทัพภาคที่ ๒ รับผิดชอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. และนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการ และ แม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท.ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ได้ข้อยุติและแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑. หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท.
๑.๑ ต้องมีฐานะยากจน
๑.๒ ต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีแต่ไม่เกิน ๕ ไร่
๑.๓ ต้องเป็น ผรท.ที่ผ่านการอบรมตามโครงการการุณยเทพ ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของหน่วยงานฝ่ายทหาร ที่รับผิดชอบ ผรท.ที่ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการระดับจังหวัดนั้น ๆ
๑.๔ ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัด ๑๑ จังหวัด ได้แก่จังหวัดกาฬสินธุ์, ฉะเชิงเทรา,บุรีรัมย์, นครพนม, นครราชสีมา, มหาสารคาม, ยโสธร, สกลนคร, สุรินทร์, สระแก้ว และจังหวัดอุบลราชธานี
๒. คุณสมบัติของ ผรท. และลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ
๒.๑ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ให้หมายถึงอดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และอดีตกองกำลังติดอาวุธ ที่เข้ามอบตัวต่อทางราชการเท่านั้น ส่วนสมาชิกแนวร่วมหรือผู้ให้การสนับสนุน อดีตกรรมการ พคท. และ อดีตกองกำลังติดอาวุธที่ถูกจับกุม ไม่ถือว่าเป็น ผรท. จะไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ
๒.๒ การให้ความช่วยเหลือ ให้ช่วยเหลือเป็นรายครอบครัว หากเป็นสามีภรรยากัน ให้พิจารณาช่วยเหลือเพียงรายเดียว และต้องเป็นผู้ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดที่ดินจากทางราชการมาก่อน
๒.๓ ให้ช่วยเหลือเฉพาะตัว ผรท. เท่านั้น หาก ผรท. ผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้ว ให้งดการให้ความช่วยเหลือ ไม่มีการช่วยเหลือ ต่อทายาท หากกลุ่ม ผรท. แต่ละกลุ่มจะให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของ ผรท. ด้วยความเต็มใจ ก็จะเป็นภาระของแต่ละกลุ่ม ที่จะพิจารณาจากรายได้รวมของกลุ่มแบ่งไปให้ความช่วยเหลือ และกรณี ผรท.ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติแล้ว หากเสียชีวิต ให้ประโยชน์ตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม
๒.๔ เนื่องจากสถานการณ์ได้ยุติตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีมาแล้ว ดังนั้น ณ เวลานี้ (พ.ศ.๒๕๔๕) ผรท. ควรจะมีอายุเกินกว่า ๓๖ ปีขึ้นไปแล้ว หากมีการเสนอรายชื่อผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๓๖ ปี น่าจะพิจารณาได้ว่า มิใช่ ผรท. ควรงดการให้ความช่วยเหลือ
๒.๕ เงื่อนไขอื่น ๆ
๒.๕.๑ ได้รับการเสนอรายชื่อจากแกนนำว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็น ผรท.
๒.๕.๒ เป็นผู้มีความประพฤติดี
๒.๕.๓ เป็นผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่าปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน และนายอำเภอ รับรอง
๒.๕.๔ ผู้มีรายได้ประจำ (เงินเดือน) สูงกว่าปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท เช่น ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ไม่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อขอรับการช่วยเหลือ
๓. แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)
๓.๑ ผรท. ที่ยากจน ยังไม่มีที่ดินอยู่ก่อน ให้ได้รับความช่วยเหลือเป็นค่าที่ดิน ๕ ไร่ ๆ ละ ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐บาท และเงินลงทุนประกอบอาชีพ(เทียบเท่าวัว ๕ ตัว) เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเงิน ๑๒๕,๐๐๐ บาท ๓.๒ ผรท. ที่ยากจน มีที่ดินอยู่แล้วแต่มีไม่ถึง ๕ ไร่ ให้ได้รับความช่วยเหลือเป็นค่าที่ดินในส่วนที่ขาดจาก ๕ ไร่ คิดเป็นตารางวาละ ๓๗.๕๐ บาท (สามสิบเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์) และค่าลงทุนประกอบอาชีพ (เทียบเท่าวัว ๕ ตัว) เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท
๓.๓ ผรท. ที่ยากจน แต่มีที่ดินอยู่แล้วตั้งแต่ ๕ ไร่ ขึ้นไป ให้ได้รับความช่วยเหลือเฉพาะค่าลงทุนประกอบอาชีพ (เทียบเท่าวัว ๕ ตัว) เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท
๓.๔ ผู้มีฐานะดี เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท ห้างร้าน ที่มีเงินเดือนประจำ ให้งดการให้ความช่วยเหลือ
๓.๕ การตรวจสอบการถือครองที่ดิน ให้ตรวจสอบจากหลักฐานของ ๓ ส่วนราชการ คือ กรมที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กรมป่าไม้ (สทก.) โดยตรวจสอบทั้งสามีและภรรยา
๔. การจ่ายเงินช่วยเหลือ ผรท. เป็นรายบุคคล ครั้งที่ ๑
๔.๑ ผรท. ผู้มีฐานะยากจน ได้รับความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละ ๕๐,๐๐๐ - ๑๒๕,๐๐๐ บาท ใน ๙ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๒,๔๔๙ ราย
๔.๒ ผรท. ผู้มีฐานะยากจน ได้รับความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละ ๕๐,๐๐๐ - ๑๒๕,๐๐๐ บาท ใน ๒ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๑๖๐ ราย
๔.๓ ผรท. ที่ได้รับความช่วยเหลือ มีภูมิลำเนา ๙ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ๒ จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, นครพนม, นครราชสีมา, มหาสารคาม, ยโสธร, สกลนคร, สุรินทร์, อุบลราชธานี, ฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว
๔.๔ พิธีมอบเงินช่วยเหลือ ผรท. กระทำเป็นรายจังหวัด ตั้งแต่ ๒๓ ม.ค.๕๐ ถึง ๘ มี.ค.๕๐ โดยนายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เป็นประธานพิธีมอบเงินช่วยเหลือ ผรท.จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดสุดท้าย
๕. สรุป
๕.๑ ผรท.ใน ๑๑ จังหวัด ได้แก่จังหวัดกาฬสินธุ์, ฉะเชิงเทรา, บุรีรัมย์, นครพนม, นครราชสีมา, มหาสารคาม, ยโสธร, สุรินทร์, สกลนคร และจังหวัดสระแก้ว ได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพเป็นรายบุคคล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๐/๒๕๔๕ ลง ๘ ก.ค.๔๕ จำนวน ๒,๖๐๙ ราย เป็นเงิน ๒๖๓,๑๒๐,๔๖๐.๕๐ บาท (สองร้อยหกสิบสามล้านหนึ่งแสนสองหมื่นสี่ร้อยหกสิบบาทห้าสิบสตางค์)
๕.๒ อย่างไรดี ภายหลังเสร็จสิ้นการมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ ผรท. ที่จังหวัดสกลนคร รัฐบาลได้พิจารณาปรับเปลี่ยนวิธี วิธีการให้ความช่วยเหลือ ผรท. จากการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นรายบุคคลมาเป็นการช่วยเหลือในรูปโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมสรุป การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ได้ยืนยันให้ยุติการช่วยเหลือ ผรท.เป็นรายบุคคล กับสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันรับผิดชอบในการช่วยเหลือ ผรท. ภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ต่อไป
๕.๓ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรี (สมัยนายสมัคร สุนทรเวช) ได้มีมติให้ยุติการดำเนินการโครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ทำให้โครงการส่วนใหญ่ของ ผรท.ในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว โดยโครงการใดที่ยังมิได้เบิกจ่ายงบประมาณ จังหวัดที่ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณได้ไม่ทันเวลาได้แก้ไขปัญหาโดยใช้งบพิเศษของจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงมีจังหวัดสุรินทร์เพียงจังหวัดเดียว ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ครั้งที่ ๓ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๙๐/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ในห้วงปี พ.ศ.๒๕๕๒ – พ.ศ.๒๕๕๔ ดำเนินการ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๙๐/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยสรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้
๑. ความเป็นมา
การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ ผรท. เริ่มขึ้นประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๕๒ โดยสรุปข้อเรียกร้องที่สำคัญของแกนนำกลุ่ม ผรท. ใน ก.พ.- มี.ค.๕๒
๑.๑ ขอให้ช่วยเหลือ ผรท. จาก ๑๕ จังหวัด จำนวน ๓,๘๑๗ ราย ๆ ละ ๖๕๐,๐๐๐ บาท (หกแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน ๒,๔๘๑,๐๕๐,๐๐๐.- บาท (สองพันสี่ร้อยแปดสิบเอ็ดล้านห้าหมื่นบาทถ้วน) โดยให้มีผลถึงทายาทของ ผรท. ที่เสียชีวิตแล้วด้วย
๑.๒ ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยให้มีตัวแทนของ ผรท. ร่วมในคณะกรรมการด้วย
๑.๓ ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นรายบุคคล รายละ ๑๒๕,๐๐๐.- บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) สำหรับสมาชิกกลุ่ม ผรท. จำนวน ๑,๐๘๑ ราย จาก ๓ จังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์, สกลนคร และจังหวัดนครพนม)
๒. การดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
๒.๑ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๙๗/๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแกนนำ ผรท. ร่วมในคณะกรรมการ ได้แก่ นายไสว แสงชาติ (เสียชีวิตแล้ว), นายรื่น แหวดกระโทก, นางจันทร์แดง ปิดตาระพา และนายสว่าง วงศ์กระโซ่
๒.๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๙๐/๒๕๕๒ ให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๙๗/๒๕๕๒ และแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท. ชุดใหม่ โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานกรรมการ และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยไม่มีแกนนำ ผรท. ร่วมในคณะกรรมการ
๒.๓ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผรท.ในระดับพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยคณะกรรมการแต่ละภาค มี ผอ.รมน.ภาค ๑ – ๔ เป็นประธานกรรมการ ตามลำดับ และมีแกนนำ ผรท. ร่วมในคณะกรรมการของแต่ละระดับพื้นที่ภาคด้วย
๒.๔ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท. ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ โดยใช้หลักการเดิม ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๐/๒๕๔๕ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลเวลา
๓. แนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท.
๓.๑ ให้ความช่วยเหลือแก่ ผรท.ที่มีปัญหาความเดือดร้อนเป็นรายบุคคล ด้วยการจ่ายเป็น เงินจำนวนเทียบเท่าราคาที่ดิน ๕ ไร่ และวัว ๕ ตัว โดยกำหนดเป็นราคาเดียวใช้กับทุกภาค
๓.๒ กำหนดราคาค่าที่ดินและค่าวัวที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
๓.๒.๑ ที่ดิน ราคาไร่ละ ๓๕,๐๐๐.- บาท
๓.๒.๒ วัว ราคาตัวละ ๑๐,๐๐๐.- บาท
๓.๒.๓ รวมวงเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ รายละ ๒๒๕,๐๐๐.- บาท
๔. เงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ
๔.๑ ให้ความช่วยเหลือเป็นรายครอบครัว หากเป็นสามีภรรยากัน ให้พิจารณาช่วยเหลือเพียงรายเดียว ๔.๒ กรณีที่ ผรท. ได้ผ่านการตรวจสอบ และพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่สมควรได้รับความ ช่วยเหลือ หาก ผรท.ผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์นั้นเสียชีวิต ก็ให้ประโยชน์นั้นตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม
๔.๓ ผู้มีฐานะดี ผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทห้างร้าน หรือผู้ที่มี เงินเดือนประจำ ให้งดการให้ความช่วยเหลือ
๕. คุณสมบัติของ ผรท.ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ
๕.๑ ต้องเป็นบุคคลที่เกิดในปี พ.ศ.๒๕๐๙ หรือก่อนนั้น (อายุ ๔๓ ปี ขึ้นไป)
๕.๒ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการในฐานะ ผรท. และไม่เคย ได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดที่ดินจากทางราชการมาก่อน
๕.๓ ต้องเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน และคณะกรรมการได้สอบสวนแล้วว่า เป็นผู้มีรายได้ ไม่เกินปีละ ๖๐,๐๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
๕.๔ ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอท้องที่ รับรอง
๖. องค์ประกอบอื่น ๆ
๖.๑ ผรท. ที่ผ่านการอบรมโครงการการุณยเทพ ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของหน่วยงาน ฝ่ายทหารที่รับผิดชอบ ผรท. ให้อยู่ในเกณฑ์สมควรได้รับความช่วยเหลือ
๖.๒ ผรท.ที่ไม่ผ่านการอบรมโครงการการุณยเทพ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อพิจารณา คัดกรองอย่างชัดเจนและเป็นธรรม โดยผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพิจารณา ต้องเป็นอดีตกรรมการ พคท. หรืออดีตกองกำลังติดอาวุธที่เข้ามอบตัวต่อทางราชการและมีหลักฐานการมอบตัวต่อทางราชการ
๖.๓ ผู้ที่เคยเป็นสมาชิก แนวร่วมหรือผู้ให้การสนับสนุน พคท.และอดีตกองกำลังติดอาวุธ ที่ถูกจับกุม ไม่ถือว่าเป็น ผรท. และไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ
๗. สรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
๗.๑ คณะรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี) มีมติเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ และวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ อนุมัติให้มอบความช่วยเหลือเป็นเงินค่าประกอบอาชีพแก่ ผรท. จำนวน ๙,๑๘๑ ราย ๆ ละ ๒๒๕,๐๐๐.- บาท วงเงิน ๒,๐๖๕,๗๒๕,๐๐๐.- บาท (สองพันหกสิบห้าล้าน เจ็ดแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยมอบให้ กอ.รมน. ดำเนินการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ
๗.๒ กอ.รมน. โดย กอ.รมน.ภาค ๑ - ๔ ได้ตรวจพบผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนจำนวนหนึ่ง จึงตัดยอด ผรท.ออกไปส่วนหนึ่ง คงเหลือ ผรท.ที่รับเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ เพียง ๘,๗๘๓ ราย รวมเป็นเงิน ๑,๙๗๖,๑๗๕,๐๐๐.- บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบหกล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ดำเนินการจ่าย ๔ ครั้ง ตั้งแต่ ๑๐ ม.ค.๕๔ - ๓๐ ก.ค.๕๔ โดย ผรท.ได้รับเงิน รายละ ๒๒๕,๐๐๐.- บาท (สองแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) เป็นสมุดบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จาก กอ.รมน.จังหวัด ซึ่ง ผรท.มีภูมิลำเนาอยู่ โดยจะได้รับมอบ สมุดคู่ฝากในพิธีมอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่ง กอ.รมน.จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบบุคคล และจัดการอบรมก่อนพิธีมอบเงินช่วยเหลือ
ลำดับ |
รายการ |
หน่วยนับ |
กอ.รมน.ภาค |
รวม |
|||
๑ |
๒ |
๓ |
๔ |
||||
๑ |
ภูมิลำเนาของ ผรท. |
จังหวัด |
๒๐ |
๒๐ |
๑๗ |
๑๒ |
๖๙ |
๒ |
จำนวน ผรท. |
ราย |
๓๔๒ |
๕,๔๘๔ |
๑,๔๔๖ |
๑,๕๘๑ |
๘,๗๘๓ |
๓ |
จำนวนเงินที่จ่าย |
ล้านบาท |
๗๖.๙๕๐ |
๑,๒๓๓.๙๐ |
๓๒๕.๓๕๐ |
๓๓๙.๙๗๕ |
๑,๙๗๖.๑๗๕ |
๗.๓ เนื่องจากมีผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการขออุทธรณ์เป็นจำนวนมาก และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการจำนวนหนึ่ง แต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้สิ้นสุดสถานะลงพร้อมกับรัฐบาล ชุดที่แล้ว ทำให้ ผรท.กลุ่มดังกล่าว จำนวน ๘๖๒ ราย ยังมิได้รับการอนุมัติบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการ ซึ่งทำให้มีผู้ค้างรับเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ รายละ ๒๒๕,๐๐๐.- บาท รวมเป็นเงิน ๑๙๓,๙๕๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบสามล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
ลำดับ |
รายการ |
หน่วยนับ |
กอ.รมน.ภาค |
รวม |
|||
๑ |
๒ |
๓ |
๔ |
||||
๑ |
จำนวน ผรท. |
ราย |
๑๔ |
๕๐๖ |
- |
๓๔๒ |
๘๖๒ |
๒ |
จำนวนเงินที่จ่าย |
ล้านบาท |
๓.๑๕ |
๑๑๓.๘๕ |
- |
๗๖.๙๕ |
๑๙๓.๙๕ |
bottom of page